ZK-rollups VS Optimistic rollups EP. 1: เก่งคนละด้าน ใช้งานคนละแบบ

ZK-rollups VS Optimistic rollups EP. 1: เก่งคนละด้าน ใช้งานคนละแบบ

ZK-rollups VS Optimistic rollups EP. 1: เก่งคนละด้าน ใช้งานคนละแบบ

ZK-rollups และ Optimistic Rollups เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยพัฒนาเครือข่าย Ethereum เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกรรม ความรวดเร็ว และลดค่าธรรมเนียมที่ซึ่งเป็นปัญหาหลักของ Ethereum ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามทั้ง ZK-rollups และ Optimistic rollups ก็มีหลักการทำงานที่ต่างกัน ซึ่งทำให้มีจุดเด่นคนละแบบ โดยภายในบทความนี้จะเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างให้เพื่อน ๆ ได้เห็นกันแบบชัด ๆ ไปเลย



ทำความรู้จักกับทั้ง 2 กลไกแบบคร่าว ๆ กันก่อน



ZK-rollups เป็นกลไกการประมวลผลธุรกรรมบนบล็อกเชนที่ใช้เทคนิค Zero-knowledge proofs ที่ช่วยเสริมในเรื่องของความเร็ว (Scalabilty) พร้อมทั้งเน้นทางด้านความเป็นส่วนตัว (Privacy) กล่าวคือ Zero-knowledge proofs จะเป็นการรวบรวมธุรกรรมจำนวนมากเพื่อให้สามารถประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยยังสามารถคงไว้ซึ่งความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนหรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนในการทำธุรกรรม โดย ZK-rollups จะใช้วิธีการยืนยันตัวตนผ่านคริปโตกราฟิก (Cryptographic) แทน ซึ่งในปัจจุบันโปรเจกต์ที่ใช้เทคนิคแบบนี้ ได้แก่ Immutable X และ zkSync เป็นต้น



ต่อมา Optimistic Rollups เป็นเทคโนโลยีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลบนบล็อกเชนผ่านการประมวลผลธุรกรรมบน Layer-2 และรวบรวมจัดส่งในรูปแบบของชุดข้อมูลต่อไปสู่เครือข่าย Layer-1 ซึ่งทำให้สามารถประมวลผลธุรกรรมจำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในการประมวลผลที่สูง ซึ่งเหมาะแก่เครือข่ายที่มีปริมาณการทำธุรกรรมที่มาก โดยโปรเจกต์ที่มีการใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ Optimism และ Arbitrum เป็นต้น



เทียบความสามารถให้เห็นกันชัด ๆ





ในส่วนนี้จะเป็นการเทียบความแตกต่างในความสามารถปัจจุบันของทั้ง 2 เทคโนโลยี โดยจะเป็นการวิเคราะห์ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัย การยืนยันธุรกรรมขั้นสุดท้าย ค่าธรรมเนียม ความซับซ้อนในการพัฒนา สัญญาอัจฉริยะ และการสนับสนุนจากชุมชน เริ่มจาก ความปลอดภัย (Security): ZK-rollups ใช้เทคโนโลยี zero-knowledge proofs ที่เป็นการยืนยันธุรกรรมผ่าน cryptographic เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกรรมมีความถูกต้องและเงินจะไม่ถูกขโมยหรือใช้ซ้ำได้ ซึ่งวิธีการนี้จะมีความปลอดภัยมากกว่าเทคนิคแบบ Optimistic Rollups ที่อาศัยโหนดบนเครือข่ายของตนเข้ามาช่วยในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมแทน [ZK > Optimistic] การยืนยันธุรกรรมขั้นสุดท้าย (Transaction finality): ในส่วน ZK-rollups ดูเหมือนจะมีความได้เปรียบมากกว่าเนื่องจากสามารถยืนยันธุรกรรมขั้นสุดท้ายได้ในทันทีจากการใช้การยืนยันความถูกต้องผ่าน crptographic ในทางกลับกัน Optimistic rollups ที่ใช้โหนดบนเครือข่ายเข้ามาช่วยยืนยันธุรกรรมทำให้จำเป็นต้องมีระยะเวลาหนึ่งที่ปล่อยให้โหนดในระบบตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม และเรียกร้องในกรณีพบข้อผิดพลาดเสียก่อนที่จะสามารถยืนยันธุรกรรมขั้นสุดท้ายได้ ดังนั้นการยืนยันธุรกรรมขั้นสุดท้ายจึงอาจจะทำได้ช้ากว่าเจ้าตัว ZK-rollups [ZK > Optimistic]



ค่าธรรมเนียม (Gas efficiency): ZK-rollups มีความสามารถในการประหยัดค่าธรรมเนียมได้มากกว่าที่ Optimistic rollups ทำได้ เนื่องจากกระบวนการประมวลผลธุรกรรมส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องทำบนเครือข่าย (off-chain) ในขณะที่การประมวลผลธุรกรรมของ Optimistic rollups ที่ส่วนใหญ่ต้องทำบนเครือข่าย (on-chain) ที่มีการอาศัยโหนดบนเครือข่ายเข้ามาช่วยยืนยันธุรกรรมจึงทำให้มีต้นทุนทางค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า [ZK > Optimistic]



ความซับซ้อนในการพัฒนา (Develoment complexity): อย่างที่ได้กล่าวไป ZK-rollups ใช้การยืนยันธุรกรรมผ่าน cryptographic ที่ต้องอาศัยการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางเทคนิคอย่างมากทำให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาพัฒนาแอปพลิเคชั่นกระจายศูนย์สามารถทำได้ยากกว่าการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบน Optimistic rollups [ZK < Optimistic]



สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract): Optimistic rollups มีความง่ายมากกว่าในการพัฒนา Smart Contract เนื่องด้วยมีการรองรับ EVM หรือ Ethereum Virtual Machine ที่ทำให้นักพัฒนาสามารถใช้เครื่องมือและภาษาสำหรับเขียนโค้ดอันเดียวกับที่ใช้บน Ethereum เข้ามาใช้ในการพัฒนา Smart Contract บน Optimistic Rollups ได้เลย ในขณะที่ ZK-rollups นั้นแตกต่างออกไปจากความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยทักษะความรู้ขั้นสูง กอปรกับการที่ยังไม่สามารถรองรับ EVM ได้ในปัจจุบันจึงทำให้มีความยากมากกว่าต่อนักพัฒนาที่ต้องการเข้ามาพัฒนา Smart Contract บน ZK-rollups [ZK < Optimistic]



การสนับสนุนจากชุมชน (Community Support): ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในโปรเจกต์ที่เป็น Optimistic rollups อย่าง Optimism และ Arbitrum นั้นมีการสนับสนุนจากชุมชนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนเม็ดเงินหรือยอดเงินฝากจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามา รวมถึงมูลค่าทางตลาด (Market Value) ที่ชนะทางฝั่งโปรเจกต์ ZK แบบขาดรอย เนื่องจาก Optimistic นั้นสามารถพัฒนาได้เร็วกว่าจึงทำให้มีการเปิดตัวโปรเจกต์ได้ก่อน ในขณะที่ ZK-rollups นั้นพัฒนาได้ช้าเนื่องจากความยากของตัวเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนจึงทำให้ขณะนี้โปรเจกต์บนของ ZK-rollups ยังอยู่ในช่วง Testnet เป็นส่วนใหญ่ [ZK < Optimistic]



เก่งคนละด้าน จึงเหมาะสมต่อการใช้งานคนละแบบ

จะเห็นได้ว่าทั้ง ZK-rollups และ Optimistic rollups นั้นมีจุดเด่นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย ZK-rollup จะเน้นไปในด้านของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ในส่วนของ Optimistic Rollups นั้นก็เน้นไปในด้านของความรวดเร็วในการประมวลผลธุรกรรม

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี ZK-rollups จึงเหมาะสมกับการนำไปใช้งานบนเครือข่ายที่ต้องการความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ผู้ใช้งานไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของตน อย่างเช่น ระบบการเงินกระจายศูนย์ (DeFi) แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกระจายศูนย์ (DEX) เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้เทคนิคนี้ก็เหมือนเป็นดั่งดาบสองคมที่ต้องแลกมาด้วยความรวดเร็วที่อาจจะทำไม่ได้เท่าเจ้าตัว Optimistic Rollups



ต่อมาในส่วนของ Optimistic rollups ที่เป็นการมัดรวมธุรกรรมและประมวลผลบน Layer-2 และมัดรวมส่งต่อมายังเครือข่าย Layer-1 ในคราวเดียวทำให้เทคนิคนี้มีความโดดเด่นอย่างมากที่สามารถประมวลผลธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมากับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่ก็ทำได้ไม่ดีเท่า ZK-rollup เช่นกัน ดังนั้นด้วยความรวดเร็วในการประมวลผลธุรกรรมในเวลาอันสั้นทำให้เทคนิคดังกล่าวนี้เหมาะแก่การนำไปใช้งานบนเครือข่ายที่มีปริมาณธุรกรรมหนาแน่นที่ต้องอาศัยการประมวลผลธุรกรรมจำนวนมากอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่นกระจายศูนย์ หรือ NFT marketplace เป็นต้น



สรุป



ทั้ง ZK-rollups และ Optimistic rollups ล้วนเข้ามาช่วยเสริมสร้างศักยภาพบนเครือข่าย Ethereum ให้สูงขึ้น แต่ก็มีจุดเด่นและจุดด้อยกันคนละด้าน ซึ่งเจ้าตัว ZK-rollups จะเน้นในด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ในขณะที่ Optimistic rollups ที่มีจุดเด่นในด้านของความรวดเร็ว ดังนั้นในด้านการนำไปใช้งานนั้นจะต้องดูถึงความเหมาะสมและวัตถุประสงค์ที่เจาะจงของการใช้งานว่าต้องการดึงศักยภาพและความสามารถในด้านใดออกมาใช้งานนั่นเอง 

ซึ่งการวิเคราะห์ภายในบทความนี้ก็เป็นการอ้างอิงจากความสามารถในปัจจุบันของเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนา ในอนาคตเหล่าอาจจะเห็นพัฒนาการใหม่ ๆ ที่สามารถเพิ่มพูนศักยภาพของเทคโนโลยีให้สูงขึ้นไปอีก และเราจะกลับมาวิเคราะห์ให้ผู้อ่านได้ชมอีกครั้งใน ZK VS Optimistic rollups EP. 2





อ้างอิง: zkrollups, Ethereum, blockspaper, Bitkub Academy

Blockchain
Crypto

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.