Technical Analysis คืออะไร?

Technical Analysis คืออะไร?

วิเคราะห์ทางเทคนิคเหมาะแก่การใช้งานหรือไม่



Technical analysis (TA) หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค คือวิธีการใช้ข้อมูลเชิงสถิติและ พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคา (Price Action) ในอดีตมาวิเคราะห์ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต โดยการวิเคราะห์ลักษณะนี้ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายในทุก ๆ ตลาดการเงิน รวมถึงตลาดคริปโทเคอร์เรนซีด้วย





วิธีใช้ TA



การวิเคราะห์ทางเทคนิคอาศัยความรู้เกี่ยวกับกราฟราคา และเครื่องมือต่าง ๆที่ประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงสถิติในอดีตเพื่อระบุแนวโน้มในอนาคตและหาโอกาสทำกำไร โดยความรู้และเครื่องมือดังกล่าวประกอบไปด้วย Chart Pattern, Trend line, แนวรับ-แนวต้าน, ลักษณะแท่งเทียน, Indicator และทฤษฎีอื่น ๆ



ด้วยความรู้ดังกล่าว นักวิเคราะห์ทางเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญจะสามารถวิเคราะห์เหตุผลของทุก ๆ การเคลื่อนไหวของราคาได้อย่างถูกต้อง





Indicator



Indicator หรือดัชนี้ชี้วัด คือเครื่องมือที่ประยุกต์ใช้ข้อมูลการซื้อขายในตลาด ผ่านการคำนวณทางคณิตศาสตร์ และนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขายสำหรับนักเทรดที่ต้องการทำกำไรในระยะสั้น รวมถึงนักลงทุนระยะยาวที่แสวงหาจังหวะเข้าซื้อหรือขายสินทรัพย์



ตัวอย่างของ Indicator คือ Moving average, Bollinger bands, MACD และ RSI โดย แต่ละดัชนีก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการใช้งาน ข้อมูลเชิงสถิติที่นำมาวิเคราะห์ และสูตรในการคำนวณ





แนวรับ-แนวต้าน



เพื่อความเข้าใจ แนวที่ควบคุมไม่ให้ราคาขึ้นสูงกว่า เรียกว่า “แนวต้าน” ส่วน “แนวรับ” คือแนวที่ควบคุมไม่ให้ราคาลดลงไปต่ำกว่าจุดที่กำหนด



แนวรับและแนวต้าน (Support and Resistance) เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ถูกใช้ในทุกตลาดการเงิน มันคือระดับของราคาสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายเยอะเป็นพิเศษ เมื่อราคาเคลื่อนไหวมาชนแนวดังกล่าว ก็มักจะมีแนวโน้มสูงที่ราคาจะเกิดการตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นการกลับตัว หรือถูกยับยั้งไม่ให้ไปต่อ ในทางกลับกัน ถ้าราคาสามารถผ่านแนวนี้ไปได้ ก็มีโอกาสสูงที่ราคาจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางนั้นต่ออย่างมีนัยสำคัญ



การระบุแนวรับ-แนวต้านทำโดยการสังเกตุหาจุดที่แนวโน้มในตลาดเกิดการกลับตัว หรือถูกกีดกันไม่ให้ไปต่อ โดยยิ่งระดับราคาไหนมีข้อมูลการซื้อขายสูง (Volume) แนวรับหรือแนวต้านนั้นก็จะยิ่งแข็งแกร่งมากเท่านั้น





Trend Line



Trend Line คือ เส้นตรงที่เฉียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ทำหน้าที่คล้ายแนวรับและแนวต้าน โดยเส้นนี้ถูกก่อตัวขึ้นจากการเชื่อมต่อจุดหลายจุดบนกราฟเข้าหากัน

ลักษณะของ Trend line สามารถจำแนกได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ Trend line ขาขึ้น และ Trend line ขาลง ตามทิศทางที่เส้นนั้นเฉียงไป



ความสำคัญของ Trend line คือการเปลี่ยนชะลอแนวโน้ม หรือเปลี่ยนทิศทางของราคาเมื่อกราฟราคามาแตะ (Test) บริเวณเส้นดังกล่าว ซึ่งคล้ายคุณสมบัติของแนวรับและแนวต้าน และด้วยคุณสมบัตินี้ เทรดเดอร์จึงสามารถใช้เส้นนี้สำหรับระบุแนวโน้มของตลาด เช่นเดียวกับคาดการราคาของสินทรัพย์ในอนาคตได้





Chart Pattern



Chart Pattern หรือ Price Pattern คือลักษณะของกราฟราคา ที่ก่อตัวเป็นลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยส่วนมาก แพทเทิร์นดังกล่าวถูกสร้างมาจาก Trend line สองเส้นที่กำหนดลักษณะของกราฟ ซึ่ง ในกรณีที่ราคาหลุดออกจาก Chart Pattern (Break out) ราคามักจะพุ่งสูงขึ้น หรือไม่ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับลักษณะของกราฟที่เกิดขึ้น



ด้วยเหตุที่แต่ละลักษณะต่างมีทิศทางของราคาที่สามารถคาดเดาได้ นักวิเคราะห์ทางเทคนิคจึงสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ดังกล่าวเพื่อระบุพฤติกรรมของราคาในอนาคตและหาโอกาสทำกำไรได้





Candlestick Pattern



การอ่านรูปแบบกราฟแท่งเทียน (Candlestick pattern) คือหนึ่งในเทคนิควิเคราะห์แนวโน้มของตลาดผ่านรูปร่างของแท่งเทียนและแนวโน้มของราคา



โดยหลัก ๆ รูปแบบกราฟแท่งเทียนถูกใช้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการกลับตัวของตลาด (Market Reversal) เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการกลับตัวนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกรณี คือ 1) การหาสภาวะตลาดขาขึ้นในช่วงที่ตลาดมีแนวโน้มขาลงเพื่อเตรียมเข้าซื้อและ 2) การหาสภาวะตลาดขาลงในช่วงตลาดขึ้นเพื่อหาจังหวะขาย

ทฤษฎีอื่น ๆ



นอกจากการใช้เครื่องมือที่กล่าวมา นักวิเคราะห์เชิงเทคนิคหลายคนก็ใช้ทฤษฎีอื่น ๆ ที่แตกต่างกันในการคาดการณ์แนวโน้มตลาด และอธิบายเหตุผลของการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีอีเลียตเวฟ (Elliott Wave) ทฤษฎีฟีโบนัชชี (Fibonacci Theory) และทฤษฎีดาว (Dow Theory)





ข้อดี



การวิเคราะห์ทางเทคนิค คือการใช้หลักคณิตศาสตร์เข้ามาคำนวณ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มและหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับการเทรดที่มีแม่นยำสูง การใช้งาน TA จึงเป็นสิ่งที่แพร่หลายอย่างมาก 



ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ ครั้ง พฤติกรรมของราคาจึงถูกควบคุมโดย ปรากฎการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง หรือ Self-fulfilling prophecy ที่เหล่าเทรดเดอร์จะคาดการณ์ทิศทางราคาไว้ทางหนึ่งโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค เมื่อแนวคิดของเทรดเดอร์หลาย ๆ คนตรงกันเป็นจำนวนมากพอ ราคาในตลาดจึงเคลื่อนไหวตามทิศทางที่คนหมู่มากคาดการณ์ไว้





ข้อเสีย



การวิเคราะห์ทางเทคนิค จะมีประสิทธิภาพลดลงในตลาดที่มีสภาพคล่องหรือมูลค่าการซื้อขายต่ำ เพราะพฤติกรรมราคาในตลาดจำพวกนี้ จะสามารถถูกควบคุมได้โดยปัจจัยอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น กระแสข่าว หรือ เจ้ามือ เป็นต้น 



นอกจากนี้ ถึงแม้การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าแนวโน้มราคาจะเป็นไปตามที่วิเคราะห์ 100% ดังนั้น นักเทรดจึงควรมีความรอบคอบ ประสานการใช้เครื่องมือหลาย ๆ ตัวเข้าด้วยกัน และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการเทรดได้





อ้างอิง:



MiTRADE, IG.com, BinanceAcademy, ELUforex, Investopedia, AdmiralMarkets, Finnomena

Terms

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด