Blockchain Oracle คืออะไร

Blockchain Oracle คืออะไร

Blockchain Oracle คืออะไร?



Blockchain Oracle หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Oracle ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) กับข้อมูลภายนอกเครือข่าย โดยปกติแล้วในสัญญาอัจฉริยะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนอกเครือข่ายได้ ทำให้ Oracle เปรียบเหมือนเป็นสะพานเชื่อมโลกบล็อกเชนกับโลกภายนอกเข้าด้วยกันนั่นเอง เครื่องมือนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับระบบนิเวศของบล็อกเชน ถ้าหากไม่มี Oracle ก็จะไม่เกิดความหลากหลายในการใช้สัญญาอัจฉริยะเพราะข้อมูลสามารถส่งต่อกันได้แค่ภายในเครือข่ายเท่านั้น 





Blockchain Oracle ทำงานอย่างไร?



Oracle ไม่ใช่แหล่งข้อมูลแต่เป็นเพียงชั้นฐานที่ดูแล ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของข้อมูลนอกเครือข่ายก่อนจะส่งต่อไปที่อื่น ๆ ซึ่ง Oracle บางประเภทสามารถส่งข้อมูลไปที่สัญญาอัจฉริยะและส่งกลับมาที่เครือข่ายภายนอกได้อีกด้วย โดยข้อมูลที่ส่งต่อสามารถเป็นไปได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้า ผลการเลือกตั้ง ผลยืนยันการทำธุรกรรม หรือการวัดอุณหภูมิห้อง 



ยกตัวอย่างเช่น เด็กชาย A และเด็กชาย B ทายผลว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองคนต้องตกลงเงื่อนไขการทายผลและล็อกเงินลงในสัญญาอัจฉริยะด้วยกัน เนื่องจากสัญญาอัจฉริยะไม่สามารถรับข้อมูลจากแหล่งภายนอกได้ ในกรณีนี้ Oracle จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางโดยการเข้ารหัส API เพื่อหาผู้ชนะผลการเลือกตั้งและส่งข้อมูลไปให้สัญญาอัจฉริยะ และสัญญาก็จะส่งเงินที่ล็อกไว้กลับไปหาเด็กชาย A หรือเด็กชาย B ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นฝ่ายชนะ





ประเภทของ Blockchain Oracle มีอะไรบ้าง?



Oracle ถูกจำแนกประเภทตามคุณสมบัติที่แต่ละอันมี ซึ่งหนึ่ง Oracle สามารถมีได้หลาย ๆ คุณสมบัติพร้อมกัน ๆ โดยมีการแบ่งหลัก ๆ ทั้งหมด 3 หัวข้อ ได้แก่ แหล่งข้อมูล (Source) ทิศทางข้อมูล (Direction of Information) และความน่าเชื่อถือของข้อมูล (Trust) ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีความสามารถต่างกันและสามารถจำแนกย่อยได้ดังนี้



Software Oracle เป็นการดึงข้อมูลจากแหล่งเก็บข้อมูลออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Database, Server หรือ Website ต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นข้อมูลแบบ Real-time เพราะถูกดึงมาจากอินเทอร์เน็ต เช่น ราคาอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินทรัพย์ดิจิทอล หรือข้อมูลตั๋วเที่ยวบิน



1. Hardware Oracle เป็นการเก็บข้อมูลทางสิ่งของกายภาพและแปลงให้เป็นข้อมูลดิจิทัลเพื่อเอาไปใช้ในสัญญาอัจฉริยะ เช่น การอ่านข้อมูลจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ การสแกนบาร์โค้ด หรือเครื่องวัดความเร็ว



2. Inbound Oracle เป็นการนำข้อมูลจากแหล่งภายนอกมาใช้ในสัญญาอัจฉริยะ เช่น การวัดอุณหภูมิจากเซ็นเซอร์



3. Outbound Oracle เป็นการส่งข้อมูลจากสัญญาอัจฉริยะไปยังโลกภายนอก เช่น ระบบ Smart Lock ที่ปลดล็อกการใช้งานเมื่อมีการชำระเงิน



4. Centralized Oracle เป็นการดึงข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลเดียว ซึ่งทำให้ข้อมูลอาจไม่มีความน่าเชื่อถือและเสี่ยงต่อการโดนแฮ็กได้ง่าย ถ้าหากมีคนพยายามเปลี่ยนแปลงแหล่งข้อมูลที่ Oracle ดึงมา สัญญาอัจฉริยะก็จะถูกกระทบโดยตรง



5. Decentralized Oracle เป็นการดึงข้อมูลมาจากหลาย ๆ แหล่ง ซึ่งทำให้ข้อมูลที่นำมาใช้ในสัญญาอัจฉริยะมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยมากกว่า Centralized Oracle เพราะเสี่ยงต่อการโดนแฮ็กไม่เท่า นอกจากนี้สัญญาอัจฉริยะต้องใช้ Oracle หลายอันเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูล ทำให้ผู้ใช้บางคนเรียก Decentralized Oracle ว่า Consensus Oracle

โปรเจกต์ Oracle ที่ใช้ใน Bitkub



1. Project Galaxy เป็น Oracle ที่ทำหน้าที่รวบรวมและเก็บข้อมูลของผู้ใช้ให้ทีมพัฒนานำไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Web3 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง Project Galaxy มีแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งต่าง ๆ ลงในเครือข่ายของตัวเองได้



2. The Graph เป็นโปรโตคอลการจัดทำดัชนีเพื่อเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนของเครือข่าย Ethereum, POA, และ InterPlanerary File System (IPFS) โดยมี Subgraph หรือ API แบบเปิดสาธารณะให้ผู้ใช้งานเข้าไปค้นหาข้อมูลได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้โดยนักพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานของแพลตฟอร์มพวกเขา



3. Chainlink เป็น Oracle บนเครือข่ายของ Ethereum ที่ดึงข้อมูลเข้ามาในบล็อกเชนเพื่อให้ข้อมูลมีการอัพเดตและแม่นยำมากขึ้น ซึ่ง Chainlink ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวประกอบสำคัญของระบบนิเวศของโลกคริปโทเคอร์เรนซีเพราะเป็นตัวข้อส่งมูลจากโลกภายนอก



4. Band Protocol เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ระบบ Cross-chain ในการทำงาน และเป็นตัวนำข้อมูลลงบล็อกเชนโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางเพื่อป้องกันการโดนแฮ็กและเพิ่มความโปร่งใส โดยผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อีกด้วย



อ้างอิง

Chainlink, Binance, Blockchainhub

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.