การเทรดแบบอาร์บิทราจคืออะไร?

การเทรดแบบอาร์บิทราจคืออะไร?

การเทรดแบบอาร์บิทราจคืออะไร



Arbitrage หรืออาร์บิทราจ คือกลยุทธ์การฉวยโอกาสทำกำไรในระยะสั้นกับสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่ถูกซื้อ/ขายด้วยราคาที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด 



Arbitrage เกิดขึ้นได้จากขาดประสิทธิภาพของตลาด (Market Inefficiency) หมายถึงเหตุการณ์ที่ตลาดสองแห่งขึ้นไปมีสินทรัพย์ชนิดเดียวกัน แต่มีมูลค่าที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ใช้กลยุทธ์นี้หรือที่เรียกว่า Arbitrageur สามารถซื้อสินทรัพย์จากตลาดหนึ่ง แล้วนำไปขายในอีกตลาดหนึ่งที่ราคาของสินทรัพย์ชนิดเดียวกันนั้นสูงกว่าเพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง





ลักษณะของ Arbitrage



กลยุทธ์ Arbitrage มีหลากหลายประเภทตามขั้นตอนการปฏิบัติและประเภทสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน ในกรณีของคริปโทเคอร์เรนซี่ ลักษณะการ Arbitrage ที่นิยมใช้คือ Exchange Arbitrage



Exchange Arbitrage คือกลยุทธ์ที่อาศัยผลประโยชน์จากการขาดประสิทธิภาพ (Inefficiency) ของตลาดคริปโทฯ โดยบางครั้ง มูลค่าของเหรียญสกุลเดียวกันบนแต่ละกระดานแลกเปลี่ยนคริปโทฯ (Exchange) ไม่เท่ากัน



Arbitrageur จะเปรียบเทียบราคาของเหรียญบนแต่ละ Exchange หากพบว่ามูลค่าของเหรียญดังกล่าวบนแต่ละกระดานไม่เท่ากัน ก็จะเข้าไปซื้อเหรียญนั้นบน Exchange ที่ให้ราคาถูกกว่า แล้วจึงนำไปขายบนอีก Exchange หนึ่งเพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง





ตัวอย่างของการ Exchange Arbitrage

กำหนดให้ Exchange A มีมูลค่าซื้อ/ขายบิทคอยน์อยู่ที่ 2,000,000 บาท ขณะที่ Exchange B มีมูลค่าซื้อ/ขายบิทคอยน์ 2,001,000 บาท ในเวลาเดียวกัน 



เมื่อเห็นความแตกต่างของราคาบิทคอยน์จากทั้งสอง Exchange นักลงทุนสามารถใช้ช่องโหว่ดังกล่าวเพื่อทำ Arbitrage ได้ โดยซื้อบิทคอยน์จาก Exchange A ที่มีมูลค่าบิทคอยน์ 2,000,000 บาท แล้วโอนเหรียญออกไปขายที่ Exchange B ด้วยราคา 2,001,000 บาท เช่นนี้ นักลงทุนจะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาบิทคอยน์เป็นมูลค่า 1,000 บาทต่อหนึ่งบิทคอยน์ที่นำมาขาย



*หมายเหตุ การคำนวณดังกล่าวยังไม่ได้รวมค่าธรรมเนียมในการโอนระหว่าง Exchange





ประโยชน์ของการ Arbitrage



การ Arbitrage เป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากเน้นการหาผลประโยชน์จากความแตกต่างของราคาสินทรัพย์บนแต่ละตลาด การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์จึงไม่ถูกพิจารณาเป็นความเสี่ยง 



ด้วยความที่กลยุทธ์ Arbitrage เป็นลักษณะของการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ Arbitrageur รวมถึงบอทสำหรับ Arbitrage จึงมีจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นผลดีต่อตลาดโดยภาพรวม เนื่องจากการ Arbitrage จะช่วยเสริมประสิทธิภาพ (Efficiency) ให้กับตลาด กล่าวคือ ทำให้ราคาที่แตกต่างกันของสินทรัพย์บนแต่ละตลาดกลับมามีสมดุล และเพิ่มสภาพคล่องด้วยเช่นเดียวกัน 



อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีจำนวนผู้ใช้กลยุทธ์นี้มากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดการขาดประสิทธิภาพ (Inefficiency) ก็จะน้อยลง ทำให้สามารถทำ Arbitrage ได้ยากขึ้น





ข้อเสียของ Arbitrage

 

แม้ Arbitrage จะเป็นเทคนิคการเทรดที่ปลอดภัยต่อความเสี่ยงพอสมควร อย่างไรก็ตาม การลงทุนทุกรูปแบบต่างก็มีความเสี่ยง สำหรับกลยุทธ์นี้ Execution Risk (ความเสี่ยงในการดำเนินการ) และ Liquidity Risk (ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง) ก็คือความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น



Execution Risk หรือความเสี่ยงในการดำเนินการ คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำ Arbitrage เนื่องจากกลยุทธ์นี้อาศัยการซื้อ/ขายสินทรัพย์ระหว่างตลาดสองแห่งขึ้นไปภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ในสถานการณ์จริง ขั้นตอนการดำเนินการอาจใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้กำไรลดลงหรือกลายเป็นขาดทุนแทน



ส่วน Liquidity Risk ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง คือความเสี่ยงที่ตลาดที่ต้องการนำสินทรัพย์ไปขายมีสภาพคล่องไม่พอ ส่งผลให้สินทรัพย์นั้นขายไม่ออก Arbitrageur จึงอาจจำเป็นต้องขายสินทรัพย์นั้นในราคาเท่าทุนหรือตำ่กว่า



นอกจากความเสี่ยงดังกล่าว การลงทุนด้วยวิธี Arbitrage ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมในการโอนระหว่างตลาด ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม หรือ Slippage เพื่อชั่งนำ้หนักว่ากำไรที่ได้คุ้มค่ากับรายจ่ายข้างต้นหรือไม่





สรุป



ถึงแม้การลงทุนด้วยกลยุทธ์ Arbitrage เป็นการลงทุนที่ไม่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงต่ำ นักลงทุนควรศึกษาถึงปัจจัย และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน





อ้างอิง



BinanceAcademy, AnalyzingAlpha, Investopedia, MeawbinInvestor

Trading

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด