เส้นเทรนด์คือเครื่องมืออะไรกัน?
เส้นเทรนด์ (Trend line) คือ หนึ่งในเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย สามารถใช้เพื่อระบุและยืนยันแนวโน้มของตลาดได้
Trend line คือเส้นแนวทแยงที่มีคุณสมบัติคล้ายแนวรับ-แนวต้าน ที่คอยพยุงกราฟราคาในแนวโน้มขาขึ้น หรือขาลง ด้วยเหตุนี้ ทิศทางของ Trend line จึงสามารถใช้เพื่อระบุแนวโน้มของตลาดได้
ประเภทของ Trend line
ลักษณะของ Trend Line สามารถแบ่งออกได้เป็นสองชนิดตามทิศทางของมัน ประกอบไปด้วย Trend Line ขาขึ้น และ Trend Line ขาลง
Trend line ขาขึ้น
Trend Line ขาขึ้น หรือ Uptrend line คือลักษณะของ Trend Line ที่พบเจอได้ในตลาดขาขึ้น มีลักษณะลาดชันขึ้น ถูกสร้างมาจากการเชื่อมต่อจุดราคาต่ำสุด ตั้งแต่สองจุดขึ้นไป โดยมีข้อแม้ว่าทุก ๆ จุดดราคาต่ำสุด ถัดจากจุดก่อนหน้า จะต้องมีราคาที่สูงขึ้น เพื่อรักษาแนวโน้มขาขึ้นไว้ หาก Trend Line ประกอบไปด้วยสามจุดราคาต่ำสุดเป็นต้นไป หมายความว่าเส้นนี้เป็น Trend Line ที่มีนัยยะสำคัญ (Valid Trend Line)
Trend Line ประเภทนี้มีลักษณะเป็นแนวรับที่ชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ต่างจากแนวรับปกติที่มีลักษณะเป็นแนวราบ) บ่งบอกถึงอุปสงค์ในตลาดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ราคาสินทรัพย์จะสูงแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสัญญาณของตลาดขาขึ้นที่ผู้ซื้อมีจำนวนมากกว่าผู้ขาย อย่างไรก็ตาม หากราคาหลุดแนวรับนี้ลงมาได้ จะสะท้อนถึงกำลังซื้อในตลาดที่อ่อนตัวลง อาจส่งผลให้เกิดการกลับตัวของแนวโน้มตลาดได้
Trend line ขาลง
Trend line ขาลง หรือ Downtrend line คืออีกหประเภทของ Trend line ลักษณะเด่นคือเป็นเส้นตรงที่ทแยงลง วาดขึ้นจากการเชื่อมต่อจุดราคาสูงสุดสองจุดเป็นต้นไป โดยที่จุดราคาสูงสุดดังกล่าว จะต้องมีมูลค่าที่น้อยลงเรื่อย ๆ ตามแนวโน้มของเส้นที่ลดลง เช่นเดียวกับ Trend line ขาขึ้น ถ้ามีจำนวณจุด High บนเส้น Trend line นี้ตั้งแต่สามจุดขึ้นไปจะถือว่าเส้นนี้เป็น Trend line ที่มีนัยยะสำคัญ (Valid Trend line)
ในทางเศรษฐศาสตร์ กราฟราคาที่อยู่ภายใต้แนวต้านของ Trend line ที่เอนลงเรื่อย ๆ บ่งบอกถึงอุปทานในตลาดที่สูงกว่าอุปสงค์ กล่าวคือ ความต้องการซื้อน้อยเกินกว่าความต้องการขาย ถึงแม้ราคาจะตำ่ก็ตาม ซึ่งเป็นเหตุให้ราคาสินทรัพย์ตกลงอย่างต่อเนื่องในตลาดขาลง แต่ถ้าราคาสามารถทะลุแนวต้านนี้ได้ โอกาสที่แนวโน้มตลาดจะกลับตัวก็เป็นไปได้สูง
วิธีวาด Trend Line
การวาด Trend Line เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว นักวิเคราะห์แต่ละคนมักจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน บางคนใช้ปลายแท่งเทียนเป็นจุดสำหรับการเชื่อมต่อ Trend line บางคนใช้เนื้อเทียน ดังนั้นการวาดเส้นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ ยิ่งราคาแตะ (Test) Trend line มากเท่าไหร่ก็ยิ่งหมายความว่าเส้นนั้นแข็งแกร่งและมีอิทธิพลมากเท่านั้น
อีกปัจจัยที่ทำให้เส้น Trend Line แข็งแรงก็คือองศาความชัน ยิ่งความชันมาก หมายถึงแนวโน้มที่แข็งแรงมาก แต่ก็ง่ายต่อการถูกทำลายเช่นกัน ดังนั้น เส้นที่ไม่ชันมากจึงจะมีความแข็งแรงมากกว่า
นอกจากนั้น สำหรับการวาด Trend นักวิเคราะห์ทางเทคนิคจะต้องพึงจำไว้เสมอว่า กราฟราคาจะไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ทั้งหมด กล่าวคือ กราฟราคาอาจจะไม่แตะ หรือส่งสัญญาณ False Breakout ที่ล่อให้นักลงทุนมือใหม่ตัดสินใจผิดพลาด ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้มอง Trend line เป็นโซน เพื่อลดความผันผวนที่เกิดขึ้น (Noise)
การใช้งาน Trend Line
นอกจากเส้น Trend line หนึ่งเส้นจะสามารถระบุข้อมูลได้หลากหลายตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว Trend line สองเส้น ก็มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ทางเทคนิค เพราะไม่ว่าจะเป็น Chart Pattern หรือ Price Channel ส่วนมาก ก็มักมีพื้นฐานมาจากการประยุกต์ใช้เส้นเทรนด์สองเส้น
สำหรับ Price Channel คือช่วงของราคาที่เคลื่อนที่ไปในแนวโน้มเดียวกันกับตลาดในช่องทางระหว่าง Trend line ที่ขนาน สองเส้น ประกอบไปด้วยเส้นหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นแนวต้าน และอีกเส้นที่ทำหน้าที่เป็นแนวรับ
สำหรับ Chart Pattern หรือลักษณะของกราฟราคาที่ก่อตัวเป็นรูปทรงต่าง ๆ ก็มักจะมี Trend line สองเส้น เป็นส่วนประกอบหลัก ยกตัวอย่างเช่น Symmetrical Triangle หรือสามเหลี่ยมสมมาตร ที่ถูกสร้างมาจากกราฟราคาที่เคลื่อนที่อยู่ระหว่าง Trend line สองเส้นที่ลู่เข้าหากัน
วิธีเทรดด้วย Trend line
ในขณะที่ Trend line ลู่ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก็บ่งบอกถึงแนวโน้มของตลาดที่ไปทางนั้นตาม หาก Trend line ลู่ชันขึ้น หมายถึงแนวโน้มในตลาดที่เป็นขาขึ้น ดังนั้น เทรดเดอร์จึงสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นดังกล่าวได้โดยซื้อสินทรัพย์ในช่วงต้นของแนวโน้มขาขึ้น รอจนกว่ากราฟราคาจะ Breakout ออกจากเส้นแล้วค่อยขาย หรือเทรดเดอร์สามารถตั้งซื้อสินทรัพย์บริเวณ Trend line ก็ได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแนวรับ ในหลาย ๆ กรณี เมื่อกราฟราคามาแตะ Trend line ราคาก็จะถูกสะท้อนกลับ เทรดเดอร์ระยะสั้นจึงหากำไรจากกรณีนี้ได้
สำหรับ Trend line ขาลง เทรดเดอร์สามารถสร้างกำไรได้ผ่านการซื้อสินทรัพย์หลังจากเกิดการ Breakout ออกจาก Trend line เพราะส่วนมาก หลังจากที่กราฟราคาทะลุเส้นนี้ การกลับตัวของแนวโน้มก็จะเกิดขึ้น ตามที่ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้
สรุป
ถึงแม้จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ Trend line ก็ไม่ได้มีมาตรฐานของการใช้งานที่ชัดเจน กล่าวคือ บางคนวาดเส้นนี้จากการเชื่อมต่อไส้เทียน บ้างก็ใช้เนื้อเทียน ดังนั้นการใช้เครื่องมือนี้อาจจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ผู้ใช้งานหวังผลเสอไป เพื่อความปลอดภัย การใช้ Indicator อื่นควบคู่ไปด้วย และการมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี จึงเป็นเรื่องสำคัญ
อ้างอิง
BinanceAcademy, StockCharts.com, MeawbinInvester, Investopedia
Trading
บทความล่าสุด
โทเคนดิจิทัล
อัพเดทตลาด