ประเภทของ Indicator

ประเภทของ Indicator

Indicator คืออะไร



เครืองมื่อชี้วัด (Indicator) คือเครื่องมือชี้วัดทางสถิติ ถูกใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มของราคา โดยคำนวณจากราคา, ปริมาณซื้อขาย, ช่วงเวลา หรือปริมาณของทรัพย์สิน 

Indicator นั้นมีหลากหลายตัวให้ใช้งาน และทุกคนสามารถออกแบบเองได้หากมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมสำหรับสร้าง Indicator เช่น Pine Script ใน TradingView ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับดูกราฟราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ





ประเภทของ Indicator



Indicator นั้นมีการใช้งานแตกต่างกันไปตามรูปแบบและการคำนวณ แต่โดยทั่วไปแล้ว Indicator ที่นิยมใช้และเป็นพื้นฐานนั้นมีอยู่ไม่มาก 

การใช้ Indicator ในบางประเภทนั้นไม่ควรใช้ซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากเป็นการแสดงผลลัพธ์แบบเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้ 

เราสามารถนำ Indicator พื้นฐานมาแบ่งประเภทได้ดังนี้





แบ่งประเภทตามระยะเวลาที่แสดงผลลัพธ์



1. Lagging indicators หรือ “ตัวชี้วัดตาม” คือ Indicator ประเภทที่มีไว้สำหรับดูข้อมูลย้อนหลังเพื่อประกอบการตัดสินใจ สามารถใช้ยืนยันแนวโน้มของราคาที่ผ่านมาได้ Indicator ประเภทนี้จะแสดงผลลัพธ์ช้า แต่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับการใช้เป็นเครื่องมือ “ยืนยัน” สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อรวมข้อมูลที่ถูกต้องเข้ากับปัจจุบัน และทำการวิเคราะห์ต่อไป



ตัวอย่างเช่น เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอ็กซ์โพเนนเชียล (Exponential Moving Average : EMA) 2 เส้นตัดกันหลังจากราคาวิ่งขึ้นไปสักระยะหนึ่ง ทำให้เราอาจเสียโอกาสที่จะได้จุดเข้าซื้อที่ต่ำที่สุด



2. Leading indicators หรือ “ตัวชี้วัดนำ” คือ Indicator ประเภทที่มีไว้​​สำหรับคาดการณ์ทิศทางราคาในอนาคต สามารถแสดงผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีโอกาสผิดพลาดเช่นกัน เหมาะสำหรับใช้คาดการณ์ทิศทางราคาในอนาคต รวมถึงการใช้สังเกตจุดกลับตัว (Divergence) ของราคาที่อาจกำลังจะเกิดขึ้นได้



ตัวอย่างเช่น การเกิด Divergence ใน Moving Average Convergence Divergence (MACD) อาจเป็นสัญญาณว่าราคาจะมีการเปลี่ยนทิศทางในอนาคต



บาง Indicator อาจเป็นได้ทั้ง Lagging indicators และ Leading indicators โดยขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น MACD หากดูที่การตัดกันของเส้น MA ก็จะเป็น Lagging แต่ถ้าหากดูที่การเกิด Divergence ก็จะเป็น Leading นั่นเอง ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น คุณสามารถวิเคราะห์โดยการใช้ Indicator ทั้ง 2 ประเภทพร้อมกัน เพื่อเพิ่มความแม่นยำและมองภาพรวมได้มากยิ่งขึ้น





แบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์



สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้



1. Trend Indicator คือ Indicator ที่ใช้ระบุทิศทางของแนวโน้มว่าเป็นช่วงขาขึ้น, ออกข้าง (Sideway) หรือขาลง 



ยกตัวอย่างเช่น Moving Average (MA), Bollinger Bands (BB) และ Parabolic SAR



2. Volume Indicators คือ Indicator ที่วิเคราะห์ปริมาณการซื้อขาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ทางเทคนิค เนื่องจากช่วยยืนยันแนวโน้มและรูปแบบของราคาได้ แถมยังสามารถแสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนในตลาดว่าสินทรัพย์ไหนที่กำลังเป็นที่สนใจหรือเมินเฉย



ยกตัวอย่างเช่น Volumes (Vol) และ On Balance Volume (OBV)



3. Momentum Indicators คือ Indicator ที่วิเคราะห์แรงเหวี่ยงหรืออัตราเร่งของราคา สามารถเห็นถึงความแข็งแกร่งของการเคลื่อนไหวของราคาได้ อย่างในบางครั้งราคาอาจร่วงลงอย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งอาจร่วงลงช้า เราสามารถวิเคราะห์ความเร็วของการลดลงหรือเพิ่มขึ้นของราคาจากแรงเหวี่ยงหรืออัตราเร่งได้



ยกตัวอย่างเช่น Commodity channel index (CCI), Relative Strength Index (RSI) และ Stochastic



4. Volatility Indicator คือ Indicator ที่วิเคราะห์ความผันผวนของราคา ความผันผวนต่ำหมายถึงการเคลื่อนไหวของราคาที่น้อย ในขณะที่ความผันผวนสูงหมายถึงการเคลื่อนไหวของราคาที่รุนแรง ซึ่งมักจะคาดเดาได้ยากในระยะสั้น



ยกตัวอย่างเช่น Average True Range (ATR) และ Standard Deviation (SD)





อ้างอิง:



Finnomena, dev-sync, friendstrader, investopedia, yahoo - Volatility Indicator

Terms
Trading

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด