สาเหตุของการ Hard Fork บนโลกคริปโทเคอร์เรนซี

สาเหตุของการ Hard Fork บนโลกคริปโทเคอร์เรนซี

Hard Fork คืออะไร? 

ในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นแกนกลางสำคัญในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และโปร่งใส ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ มักให้ผลดีต่อชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานที่มากขึ้น แล้วมันเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนอย่างไร?



บล็อกเชนตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็มีการพัฒนาเกิดขึ้นภายในแต่ละเครือข่าย ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาก็ไม่อาจดึงดูดผู้ใช้งานให้เข้ามาในเครือข่ายได้ การพัฒนาซอฟต์แวร์ของบล็อกเชนคือสิ่งที่เรียกว่า Fork ซึ่งวันนี้เรามาทำความเข้าใจถึงความหมายและการทำงานของ Hard Fork ไปพร้อม ๆ กัน!





Hard Fork



Hard Fork คืออัปเกรดซอฟต์แวร์ใหม่ของเครือข่ายบล็อกเชน โดยปราศจากความเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์เก่าโดยสิ้นเชิง เสมือนการสร้างเครือข่ายใหม่ที่ไม่มีการทำงานหรือความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครือข่ายเก่าอีกเลย



ผู้สร้างหรือนักพัฒนาที่เกิดความไม่พอใจต่อระบบการทำงานของเครือข่าย ณ ปัจจุบัน เลือกใช้วิธีนี้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หรืออัปเกรดเครือข่ายบล็อกเชน ด้วยการสร้างกฎใหม่ขึ้นมาในเครือข่ายใหม่ ซึ่งเครือข่ายจะทำงานเป็นเส้นขนานกัน และการทำธุรกรรมบนเครือข่ายเก่าจะไม่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนบนเครือข่ายใหม่





การทำงานของ Fork เป็นอย่างไร?



สำหรับการทำงานของ Fork บนเครือข่ายของบล็อกเชนคือการอัปเกรดซอฟต์แวร์ใหม่ให้กับเครือข่าย เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และแก้ไขปัญหาที่บล็อกเชนเวอร์ชั่นเก่าประสบ โดยหลักการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคริปโทเคอร์เรนซีทุกเหรียญ ไม่เว้นแม้แต่ บิตคอยน์



การ Fork ของเครือข่ายบล็อกเชนอาจเป็นได้ด้วยเจตนาของผู้พัฒนา (Intentional Fork) หรือเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด (Accidental Fork) เช่น เมื่อมีบล็อกใหม่ถูกสร้างขึ้นมาซ้ำกันด้วยปัจจัยทางเทคนิค เป็นต้น



สำหรับการ Fork โดยเจตนา (Intentional Fork) มักมาจากความตั้งใจของผู้พัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรืออัปเกรดเครือข่าย 





Soft Fork และ Hard Fork ต่างกันอย่างไร?



การ Fork แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Hard Fork และ Soft Fork โดย Soft Fork คือการอัปเกรดที่ยังสามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายเดิมได้ ในขณะที่ Hard Fork คือการอัปเกรดที่แยกออกมาเป็นอีกเครือข่ายหนึ่ง โดยไม่สามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายเดิมได้เลย





ทำไมต้อง Hard Fork?



การ Hard Fork บางครั้งผู้พัฒนาก็ตั้งใจทำเพื่อแยกออกมาเป็นเครือข่ายทดสอบ (Testnet) เพื่อทดสอบการทำงานของฟังก์ชันใหม่ ๆ ก่อนนำไปใช้จริงบนเครือข่ายหลัก (Mainnet) ซึ่งสำคัญมาก เพราะเครือข่ายบล็อกเชนเมื่อได้รับการอัปเกรดแล้วจะไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปได้อีก 



อีกกรณีหนึ่งของการ Hard Fork อาจเกิดจากความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างผู้ใช้ในเครือข่าย 



ซึ่งกรณีนี้มีตัวอย่างให้ศึกษามากมาย อาทิ Bitcoin (BTC) ที่ถูก Hard Fork ออกมาเป็น Bitcoin Cash (BCH) เนื่องจากผู้ใช้ส่วนหนึ่งต้องการขยายเครือข่าย และปรับขนาดของบล็อกให้ใหญ่ขึ้นเพื่อการทำธุรกรรมที่เร็วขึ้นและมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง แต่ผู้ใช้ Bitcoin ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงทำให้เกิดการแยกเครือข่ายออกมาเป็น Bitcoin Cash (BCH) 



อีกตัวอย่างหนึ่งของการ Hard Fork ก็คือ Ethereum กับ Ethereum Classic โดยในอดีตเคยเกิดบั๊กขึ้นในแอปพลิเคชันบนเครือข่าย Ethereum ทำให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินอย่างมหาศาล ผู้ใช้ส่วนหนึ่งจึงต้องการย้อนเครือข่ายกลับไปก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น ขณะที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะขัดแย้งกับแก่นของบล็อกเชน ส่งผลให้เครือข่ายถูก Hard Fork ออกมาเป็น Ethereum (ETH) กับ Ethereum Classic (ETC) โดย ETH ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือเครือข่ายที่แยกออกมาพร้อมย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะเกิดความเสียหายนั่นเอง





สิทธิ์การตัดสินใจของเครือข่าย Blockchain อยู่ที่ใคร?



สำหรับเครือข่ายแบบ Public Blockchain เมื่อใดที่มีความขัดแย้งกันต่อแผนการพัฒนา หรือการหารือกันเกี่ยวกับทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายบล็อกเชน การตัดสินใจอาจไม่ได้มาจากผู้สร้างหรือผู้พัฒนาเพียงผู้เดียว เพราะถ้าผู้ใช้ในเครือข่ายมากกว่าครึ่งไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถดำเนินการพัฒนาได้ 



แน่นอนว่าทุกเครือข่ายบล็อกเชนอาจมีกฎหรือโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไป แต่เครือข่ายทำงานบนหลักของการกระจายอำนาจ ดังนั้น สิทธิ์ในการตัดสินใจจึงไม่ได้มาจากผู้สร้างหรือผู้พัฒนา แต่มาจากผู้ใช้ทุกคนบนเครือข่าย





สรุป



ในโลกของบล็อกเชน การแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ หรือการอัพเกรดเครือข่ายอาจทำได้ด้วยการ Soft Fork ทว่าหากเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรัง อาจต้องใช้ Hard Fork ในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดสำหรับคนหมู่มาก เพราะอย่าลืมว่าเครือข่ายไม่ได้เป็นของใคร แต่เป็นทุกคนที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การตรวจสอบ การช่วยกันดูแลสอดส่อง หรือการลงทุนก็ตาม



นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการ Fork ประเภทไหนก็ตาม เป้าหมายที่เหมือนกันก็คือ การกระทำที่ล้วนหวังให้เครือข่ายบล็อกเชนมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น และกำจัดทุกปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเครือข่ายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับผู้ใช้งาน





อ้างอิง: Investopedia, Coinmarketcap, Cryptocurrencyfact, CFI

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด