KYC แบบใหม่เพิ่มความปลอดภัยให้บัญชีของเราได้อย่างไร

KYC แบบใหม่เพิ่มความปลอดภัยให้บัญชีของเราได้อย่างไร

KYC แบบใหม่เพิ่มความปลอดภัยให้บัญชีของเราได้อย่างไร



การทำ KYC หรือ Know Your Customer เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับทั้งตัวลูกค้าและสถาบันการเงิน  ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนอยู่มากมายและมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป



วันนี้เราจะมาดูกันว่า วิธีการทำ KYC แต่ละแบบมีอะไรบ้างและ KYC แบบใหม่ของ Bitkub จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยของบัญชีได้อย่างไร





NDID (National Digital ID)



NDID คือเทคโนโลยีในการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และยังเป็นระบบกลางสำหรับบริหารจัดการ National Digital ID เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการต่าง ๆ จากทางภาครัฐและเอกชนได้อย่างปลอดภัย 



ข้อดีของ NDID ก็คือความสะดวกสบาย เพราะสามารถทำการยืนยันตัวตนผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทันที แต่ NDID ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะก่อนที่จะใช้ NDID ได้ ผู้ใช้จะต้องเคยเปิดบัญชีและยืนยันตัวตนกับธนาคารมาก่อน นอกจากนี้ NDID ยังมีความเสี่ยงในด้านการแอบอ้างตัวตนอยู่ เพราะหากผู้ใช้ได้รับการแจ้งเตือนให้ยืนยันตัวตนในแอปของธนาคาร แล้วเผลอกดอนุญาตโดยไม่ได้อ่านให้ละเอียดว่าเป็นบริการต้นทางที่ตนเองต้องการหรือไม่ ก็อาจทำให้ผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดได้





NFC (Near Field Communication)



NFC คือการยืนยันตัวตนโดยใช้ข้อมูลที่บรรจุอยู่ในชิปด้านหลังหนังสือเดินทาง ซึ่งหนังสือเดินทางแบบ e-Passport จะมีชิปที่เก็บข้อมูลทางชีวภาพ (Biometric Data) เช่น ลายนิ้วมือและภาพภ่ายใบหน้าอยู่ ผู้ใช้สามารถสแกนข้อมูลในชิปได้จากฟังก์ชั่น NFC (Near Field Communication) ของโทรศัพท์มือถือบางรุ่น แล้วระบบก็จะนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในเอกสารยืนยันตัวตนอีกฉบับหนึ่งเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้ 



การยืนยันข้อมูลด้วย NFC เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม การยืนยันตัวตนในรูปแบบนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีหนังสือเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่จำกัดการเดินทางไปต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องนานถึง 2 ปี หนังสือเดินทางของหลายคนก็อาจหมดอายุไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น โทรศัพท์สมาร์ทโฟนบางรุ่นก็ไม่มีฟังก์ชั่น NFC ทำให้หลายคนไม่สามารถใช้วิธีการยืนยันตัวตนดังกล่าวได้อย่างสะดวก





Dip Chip



Dip Chip คือการยืนยันตัวตนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งบัตรประชาชนแบบ Smart Card จะมีชิปบรรจุข้อมูลของผู้ถือบัตรอยู่ เช่น เช่น ชื่อ-นามสกุล วัน-เดือน-ปีเกิด เพศ ที่อยู่ สัญชาติ ศาสนา ลายพิมพ์นิ้วมือ ภาพใบหน้า รวมถึงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งการยืนยันตัวตนแบบ Dip Chip จะใช้เครื่องอ่านบัตรประจำตัวประชาชนดึงข้อมูลจากบัตรมาตรวจสอบกับฐานข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้ โดยมีให้บริการที่ธนาคารต่าง ๆ และบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสใน 7-Eleven



ถึงแม้ว่าการยืนยันตัวตนแบบ Dip Chip อาจไม่สะดวกเท่าการยืนยันผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ถือว่ามีความปลอดภัยสูงในระดับหนึ่ง ต่อไปเราจะมาดูกันว่าการยืนยันตัวตนแบบ Dip Chip จะเพิ่มความปลอดภัยให้บัญชีของเราได้อย่างไร





ความปลอดภัยของ Dip Chip 



Bitkub ได้เพิ่มวิธีการยืนยันตัวตนแบบ Dip Chip เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้า ซึ่งการยืนยันตัวตนแบบ Dip Chip นั้นมีข้อได้เปรียบด้านความปลอดภัยอยู่มากมาย เช่น 



  1. ป้องกันการปลอมแปลงบัตรประชาชนได้ เพราะบัตรประชาชนแบบ Smart Card จะมีชิปฝังอยู่ภายใน ซึ่งช่วยป้องกันการปลอมแปลงบัตรได้ดีกว่าการถ่ายรูปบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว

  2. การยืนยันตัวตนแบบ Dip Chip กับเคาน์เตอร์เซอร์วิสจะมีขั้นตอนการถ่ายรูปผู้ถือบัตรที่มายืนยันตัวตน ทำให้แน่ใจได้ว่าคนที่นำบัตรมายืนยันตัวตนคือเจ้าของบัตรจริง ๆ 

  3. ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุข้อมูลรั่วไหล เพราะการถ่ายรูปบัตรประชาชนไว้ในโทรศัพท์อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวหลุดออกไปได้ถ้าโทรศัพท์ถูกแฮ็กหรือสูญหาย

  4. ข้อมูลที่ดึงจากบัตรเพื่อการตรวจสอบจะใช้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งในกรณีของ Bitkub จะดึงเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ทำให้ลดความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนอื่นของบัตรจะรั่วไหลได้

    

    

สรุป



กระบวนการ KYC มีขึ้นเพื่อผลประโยชน์และความปลอดภัยของลูกค้า Bitkub เป็นหลัก โดยบริษัทฯ ได้คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการเลือกวิธียืนยันตัวตนที่ปลอดภัยและสะดวกที่สุดให้กับลูกค้าของเรา ซึ่งการยืนยันตัวตนแบบ Dip Chip เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและการเข้าถึงบริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับทุกคนได้อย่างทั่วถึง





อ้างอิง:



NDID, FINNOMENA, AMLO, Royal Thai Embassy, KTC, SEC

Security

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.