Hard Fork vs. Soft Fork

Hard Fork vs. Soft Fork

Hard Fork vs. Soft Fork มีการทำงานและความแตกต่างอย่างไร?

ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีการทำงานด้วยเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่เรียกว่า บล็อกเชน เมื่อเครือข่ายบล็อกเชนมีการพัฒนาเพื่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพที่สูงขึ้น การอัพเกรดทั้งหมดล้วนถูกเรียกว่า Fork ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น Hard Fork และ Soft Fork ให้ทุกคนได้ศึกษาการทำงานและความแตกต่างไปพร้อม ๆ กัน



สำหรับการ Fork เครือข่ายบล็อกเชนไปสู่เวอร์ชันใหม่นั้น มีสาเหตุมาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ความคิดเห็นของชุมชนผู้ใช้งานของเครือข่าย นักพัฒนาแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (dApps) หรือนักพัฒนาของเครือข่าย ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ อาจถูกหยิบมาหารือเพื่อพัฒนาภาพรวมการทำงานให้ดียิ่งขึ้น 



เครือข่ายบล็อกเชนที่มีการบริหารรูปแบบกระจายอำนาจ หรือ DAO (Decentralized Autonomous Organization) จะมีความแตกต่างจากเครือข่ายทั่วไป โดยที่ผู้ครอบครองเหรียญ หรือโทเคนประจำเครือข่าย ล้วนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงการทำงานของเครือข่ายได้อีกด้วย





Hard Fork



Hard Fork คืออัพเกรดซอฟต์แวร์ใหม่ของเครือข่ายบล็อกเชน โดยปราศจากความเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์เก่าโดยสิ้นเชิง เสมือนการสร้างเครือข่ายใหม่ที่ไม่มีการทำงานหรือความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครือข่ายเก่าอีกเลย ซึ่งผู้ใช้ภายในเครือข่ายจำเป็นต้องอัพเกรดเวอร์ชันเพื่อใช้งานฟังก์ชันบนเครือข่ายต่อไป



มากไปกว่านั้น การ Hard Fork เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการทำงาน เพิ่มฟังก์ชันการทำงาน และแก้ไขข้อบังคับเพื่อเสริมสร้าง ความปลอดภัยของระบบ และปรับปรุงความเสี่ยงในแง่ต่าง ๆ ให้น้อยลง ซึ่งรูปแบบการอัพเกรดซอฟต์แวร์แบบนี้ ผู้ใช้ไม่สามารถสื่อสารหรือทำงานร่วมกันได้หากมีซอฟต์แวร์คนละเวอร์ชัน



ผู้สร้างหรือนักพัฒนาที่เกิดความไม่พอใจต่อระบบการทำงานของเครือข่าย ณ ปัจจุบัน อาจเลือกใช้วิธีนี้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หรืออัพเกรดเครือข่ายบล็อกเชน ด้วยการแก้ไขกฏในเครือข่ายใหม่ ซึ่งเครือข่ายจะทำงานเป็นเส้นขนานกัน การทำธุรกรรมบนเครือข่ายเก่าจะไม่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนเครือข่ายใหม่





Soft Fork



Soft Fork คือการอัพเกรดซอฟต์แวร์ของเครือข่ายบล็อกเชนไปในเวอร์ชันที่ใหม่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ใช้ภายในเครือข่ายสามารถสื่อสารหรือใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ในเครือข่ายร่วมกันได้แม้ว่า จะมีซอฟต์แวร์คนละเวอร์ชันก็ตาม



ในแง่ของการอัพเกรด อาจมีความสะดวกและปลอดภัยต่อเครือข่ายและผู้ใช้ที่มากขึ้น เพราะการอัพเกรดเปรียบเสมือนการเพิ่มหรือปรับแต่งฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ในเครือข่าย แต่ไม่สามารถปรับแก้กฎหรือข้อบังคับของเครือข่ายบล็อกเชนนั้น ๆ ได้



ยกตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ของ iOS บนมือถือ iPhone แม้จะไม่ได้มีการอัพเกรดเป็นเวอร์ชันล่าสุด แต่ก็ยังสามารถใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้เหมือนกัน









ความแตกต่างระหว่าง Hard Fork และ Soft Fork 

Hard Fork คือการสร้างเครือข่ายเพิ่มอีก 1 เครือข่ายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ในแง่ของ ประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผู้ใช้หรือนักพัฒนาจำเป็นต้องอัพเกรดซอฟต์แวร์ของเครือข่าย เพื่อใช้งานต่อไปในอนาคต 



มากไปกว่านั้น ก็มีกรณีที่การสร้างเครือข่ายเพิ่มเติมจากการ Hard Fork อาจไม่ใช่เครือข่ายเดิมแต่เป็นการแยกเครือข่าย อย่างที่ทุกคนได้เห็นกันกับ Ethereum และ Ethereum Classic หรือ Bitcoin, Bitcoin Cash และ Bitcoin SV เป็นต้น



Soft Fork คือการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเครือข่ายเดิม โดยที่การพัฒนาอาจไม่ได้มีเงื่อนไขที่บังคับให้ผู้ใช้ต้องอัพเดทเวอร์ชันเพื่อใช้งานในด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้ภายในเครือข่ายยังสามารถทำงานร่วมกันได้แม้จะไม่ได้อัพเดทเป็นเวอร์ชันล่าสุด



Hard Fork คือการอัพเกรดที่แยกออกมาเป็นอีกเครือข่ายหนึ่ง โดยไม่สามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายเดิม และไม่สามารถแก้ไขกลับมาเป็นเหมือนเดิม ในขณะที่ Soft Fork คือการอัพเกรดที่ยังสามารถทำงานและปรับแก้กับเครือข่ายเดิมได้





สรุป



สำหรับการทำงานของ Fork ไม่ว่าจะเป็น Hard Fork หรือ Soft Fork บนเครือข่ายของบล็อกเชนคือการอัพเกรดซอฟต์แวร์ใหม่ให้กับเครือข่ายนั้น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และแก้ไขปัญหาของบล็อกเชนเวอร์ชั่นเก่า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคริปโทเคอร์เรนซีทุกสกุล ไม่เว้นแม้แต่ Bitcoin



การเรียนรู้ถึงข้อแตกต่างจะช่วยให้นักลงทุนสามารถแยกเเยะข่าวสารหรือการพัฒนาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในวงการคริปโทฯ และบล็อกเชน ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อย่างมา



อ้างอิง : Coin Telegraph, eToro, Investopedia, Binance Academy

Blockchain

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.