รู้จักกับ Layer ของบล็อกเชนในโลก Web 3 และ Layer-0, 1, 2, Application Layer ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?

รู้จักกับ Layer ของบล็อกเชนในโลก Web 3 และ Layer-0, 1, 2, Application Layer ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?

รู้จักกับ Layer ของบล็อกเชนในโลก Web 3 และเครือข่าย Layer 0, 1, 2, Application Layer ทำงานแตกต่างกันอย่างไร?

Web 3.0 มีลักษณะเป็น “เว็บกระจายอำนาจ (Decentralized Web)” ที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีในการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้งาน โดยมีบล็อกเชนเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการและเก็บข้อมูล ที่ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำธุรกรรมมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ 



ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของบล็อกเชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนและหลักการทำงานของ Web 3.0 ได้ดี โดยในบทความนี้จะเป็นการอธิบายถึง Layer ของบล็อกเชนในโลก Web 3.0 อันได้แก่ Layer 0, L1, L2 และ Application Layer ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย



Layer 0: The Foundational Layer



ที่ด้านล่างสุดของบล็อกเชนนั้นคือ Layer 0 ที่เป็นชั้นขั้นพื้นฐานที่สุดที่ครอบคลุมทั้งโครงสร้างทางกายภาพและอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น เซิร์ฟเวอร์ ศูนย์ข้อมูล และอุปกรณ์ที่ให้พลังงานและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเครือข่ายบล็อกเชน โดยในชั้นล่างสุดนี้จะเน้นทำงานในด้านของความมั่นคง ความปลอดภัย และเชื่อมต่อโปรโตคอลขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่เอื้อให้เครือข่ายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการทำงานให้แก่ Layer ด้านบนอีกด้วย นอกจากนั้น Layer 0 ยังมีหน้าที่หลักในการเอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ กล่าวคือ เชนที่สร้างขึ้นบน Layer 0 ตัวเดียวกันนี้จะสามารถส่งข้อมูลและเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสะดวก



ตัวอย่าง Layer 0 ได้แก่ Polkadot, Cosmos และ Axelar Network เป็นต้น



Layer 1: The Protocol Layer



เลื่อนขึ้นมาอีกชั้นเราจะพบกับ Layer 1 ที่ซึ่งเป็นชั้นที่ทำหน้าที่ในการสร้างและบำรุงรักษาเครือข่ายบล็อกเชน ในชั้นนี้จะมีกลไกฉันทามติที่ใช้สำหรับการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมบนเครือข่าย รวมไปถึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับรองความปลอดภัยของข้อมูลว่าจะไม่สามารถถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ และส่งเสริมการกระจายอำนาจของเครือข่ายอีกด้วย อีกทั้งการทำ “สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)” ที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ บนเครือข่ายก็เกิดขึ้นบน Layer นี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม Layer 1 ก็มีข้อจำกัดอยู่ที่ว่าเมื่อมีผู้ใช้งานจำนวนมาก เครือข่ายจะไม่สามารถประมวลผลธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ส่งผลให้เกิดการทำธุรกรรมล่าช้าและค่าธรรมเนียมที่สูงนั่นเอง



ตัวอย่าง Layer 1 ได้แก่ Bitcoin, Ethereum, Cardano และ Ripple เป็นต้น



Layer 2: The Scaling Layer



ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน Layer 1 ทำให้เกิดการพัฒนาบล็อกเชน Layer 2 ขึ้นมา โดยในชั้นนี้จะทำงานอยู่บน Layer 1 ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ Layer 1 ในการช่วยลดความหน่วงในการทำธุรกรรมและเสริมสร้างศักยภาพการประมวลผลธุรกรรมให้แก่ Layer 1 ได้มากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีที่นิยมใช้บน Layer 2 ในปัจจุบัน คือ Optimistic Rollup และ ZK Rollup ที่เป็นการนำธุรกรรมบน Layer 1 มาประมวลผลบน Layer 2 และส่งกลับไปบันทึกข้อมูลบนบล็อกเชน Layer 1 ส่งผลให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วและค่าธรรมเนียมที่ต่ำมากยิ่งขึ้นนั่นเอง



ตัวอย่าง Layer 2 ได้แก่ Optimism, Arbitrum และ Bitcoin’s Lightning Network เป็นต้น



The Application Layer



ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึง The Application Layer ที่ซึ่งเป็นชั้นของแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยชั้นนี้จะเป็นชั้นที่ผู้ใช้งานนั้นจะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายผ่านแอปพลิเคชั่นกระจายศูนย์ (Decentralized Application) มากมายที่มาสร้างอยู่บนชั้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการเงินกระจายศูนย์ (DeFi) หรือแพลตฟอร์มการซื้อขาย NFT เป็นต้น ซึ่งใน Layer นี้นั้นจะมีลักษณะเป็นระบบหน้าบ้านที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้ามาใช้งาน โต้ตอบ โดยอาศัยระบบ Smart Contract ของเครือข่ายทำงานอยู่เบื้องหลังในการทำงานและเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่อยู่ใน Layer ที่ต่ำกว่าลงไป



ตัวอย่างได้แก่ Uniswap, Compound, Pancake Swap, Decentraland, Lenster และ Orb เป็นต้น



สรุป



Layer ของบล็อกเชนในโลก Web 3.0 นั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมและซับซ้อนที่ช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงานและการกระจายศูนย์ของเครือข่ายบล็อกเชน โดยตั้งแต่ Layer 0 ที่เป็นขั้นพื้นฐานสุด ไปจนถึง Application Layer ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่และบทบาทของตนเองในการสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและโปร่งใส รวมไปถึงเป็นมิตรสำหรับการรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากอีกด้วย





อ้างอิง: Techblog, Hacken, Techsauce, Cointelegraph

Blockchain
Crypto

บทความล่าสุด

โทเคนดิจิทัล| Price Today!

อัพเดทตลาด

เนื้อหาและกิจกรรมดังกล่าวจัดทำโดยบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.